คุณธรรมจากการต้อนรับพระธุดงค์(2)

01:06 purivaro 0 Comments

      เคารพ เป็นบ่อเกิดของปัญญา เพราะคำว่าเคารพนั้น คือการเห็นความดีของผู้อื่น หรือที่เรียกสั้นๆว่า "จับดี" นั่นเอง เหมือนเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เคยได้ฟังมา

      คุณครูท่านหนึ่งเดินเข้ามาในห้องเรียน พร้อมกับกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่แผ่นหนึ่งในมือ แล้วคุณครูก็หยิบปากกาไวท์บอร์ดสีดำมาจุดลงไปตรงกลางกระดาษนั้น จากนั้นก็ชูกระดาษแผ่นนั้นขึ้นมา แล้วถามนักเรียนทั้งห้องว่า "พวกเธอเห็นอะไร?" เด็กทุกคน ตอบพร้อมกันเป็นเสียงเดียวว่า เห็นจุดสีดำ คุณครูหยุดนิ่งไปสักพัก แล้วถามนักเรียนกลับไปว่า "แล้วพวกเธอไม่เห็นกระดาษแผ่นนี้บ้างเลยหรือ?"..

      จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ปกติแล้วคนเรามักจะมองเห็นจุดด้อยของคนอื่น ได้ง่าย อย่างที่เรามักเห็นในสังคม ที่ชอบมีเรื่องวิพากวิจารย์ความไม่ดีของผู้อื่น หรือที่เห็นบ่อยๆในอินเตอร์เน็ต และตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนมักจะสนใจกันมาก แต่พอยิ่งสนใจ และยิ่งไปวิพากวิจารณ์ ก็กลายเป็นว่าใจของคนนั้นไปหมกมุ่นครุ่นคำนึงอยู่แต่เรื่องที่ไม่ดีเหล่านั้น จนกลายเป็นกับดักของความคิดดีๆ และความคิดสร้างสรรค์ เพราะในใจผู้นั้นมีแต่ภาพที่ไม่ดีมารวมกัน จนบางครั้งก็กลับกลายเป็นการประพฤติสิ่งไม่ดีเหล่านั้นเสียเอง
     ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีนิสัยชอบมองแต่จุดดี หรือข้อดีของผู้อื่นเป็นปกติ ใจของผู้นั้นก็จะเป็นที่รวมของสิ่งดีๆทั้งหลาย ความคิดดีๆ ความคิดสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ เพราะภาพดีๆในใจของผู้นั้นก็จะเป็นวัตถุดิบของความคิดที่มีคุณภาพ และจะเป็นต้นแบบของคำพูด และการกระทำความดีของเค้าต่อไป
พระธุดงค์ธรรมชัย 1,128  รูป

        การที่เด็กนักเรียนได้มารับบุญต้อนรับพระธุดงค์ จึงเป็นกุศโลบายในการพัฒนาความคิด คำพูด และการกระทำของนักเรียน เพราะการที่เด็กได้ประนมมือ กราบไหว้ พระธุดงค์ และเปล่งเสียง"สาธุ" ที่แปลว่า "ดีแล้ว" เป็นการฝึกให้รู้จักการ "จับดี" ตั้งแต่ยังเยาว์วัย เป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย และได้มองเห็นภาพของความสงบเสงี่ยม สง่างามของคณะพระธุดงค์จำนวนมากอย่างใกล้ชิด ซึ่งพระธุดงค์ทุกรูปก็ล้วนฝึกตนมาอย่างดี ในขณะเดินท่านก็มองกลาง มองทาง เจริญสมาธิภาวนาตามอย่างที่พระอุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ได้สอนไว้ ภาพที่งดงามเหล่านี้ก็จะไปปรากฏในใจของนักเรียน ครูและทุกคนที่ได้พบเห็น ให้ยิ่งบังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะน้อมนำสิ่งดีๆเหล่านี้ไปฝึกปฏิบัติแก่ตนเอง ด้วยเหตุนี้ความคิด คำพูด และการกระทำดีๆ ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน และหากได้ทำอย่างต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัย เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมความดี มีสติปัญญาที่จะพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองต่อไปในอนาคต

   เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนดี  เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ แก่โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลยฯ
..พุทธทาส ภิกขุ

(อ่านต่อครั้งหน้า)
นำเด็กนักเรียนนั่งสมาธิ กลั่นใจให้ใส เพื่ออธิษฐานจิตตั้งผังสำเร็จ ก่อนไปต้อนรับพระธุดงค์